พระกริ่งใหญ่&พระชัยวัฒน์
ตำรับเจ้าคุณนรฯกับหลวงพ่อเผย

LINE it!

     กล่าวถึงพระกริ่งกับพระชัยวัฒน์นั้น  ใครที่เข้ามาศึกษาต่างทราบกันดีว่าต้องเป็นสายวัดสุทัศน์ ถึงจะเชื่อถือได้เพราะจัดว่าเป็นต้นตำรับในการสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ตามแบบโบราณที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน แต่ในที่นี่จะมากล่าวถึงพระกริ่งใหญ่ของท่านเจ้าคุณนรฯ ซึ่งในวงการต่างให้การยอมรับ พร้อมกับพระชัยวัฒน์ของหลวงพ่อเผย ที่จัดเป็นสายวัดสุทัศน์เช่นกัน 

    สำหรับพระกริ่งใหญ่ท่านเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์นี้ สร้างขึ้นในปี 2495  โดยสร้างแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เจริญ ซึ่งมรณภาพไปเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ทั้งนี้เพราะสมเด็จเจริญท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของเจ้าคุณนรฯ และ วัตถุมงคลหลายๆรุ่นของท่านก็โด่งดังค่านิยมสูงเช่นกัน เช่นพระผงสรงน้ำ เหรียญต่างๆที่เป็นรูปเหมือนท่าน ๆลๆ พระกริ่งใหญ่นี้สร้างพร้อม พระกริ่งเล็ก เหรียญตุ้งติ้ง เหรียญชินราชหยดน้ำ และ วัตถุมงคลอีกหลายรายการ 



      ทางด้านมวลสารของพระรุ่นนี้ประกอบด้วย ชนวนโลหะของเก่าจากพระเกจิอาจารย์ยุคนั้นมากมาย โดยผู้ที่รับจัดหาวัตถุมงคลชนวนต่างๆคือ หลวงภูมินาถสนิธ ศิษย์ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เจริญบวชให้ โดยชนวนโลหะศักดิ์สิทธิ์นั้นประกอบด้วย ชนวนพระพุทธชินราชอินโดจีน พ.ศ. 2485 ,ชนวนพระกริ่งของวัดชนะสงคราม ,ชนวนพระกริ่งของวัดราชบพิตร ,ชนวนพระกริ่งของหลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง ,ชนวนพระกริ่งของหลวงพ่อกึ๋น  วัดดอน และชนวนพระกริ่งของวัดบรมนิวาส 

     นอกจากนั้นยังมีแผ่นยันต์เงินทองจากเกจิอาจารย์ดังยุคนั้น ได้แก่ แผ่นยันต์หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ,หลวงพ่อเหลือ วัดเสาชะโงก ,หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ,หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก ,ท่านเจ้าคุณวิเชียรโมลี จังหวัดกำแพงเพชร ,หลวงปู่โต๊ะวัดประดู่ฉิมพลี ,หลวงพ่อโอภาสี วัดบางมด ,หลวงพ่อช่วง วัดบางแพรก ,หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ และ หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว และยังมีอีกมากมาย



     ในการปลุกเสกนั้นมีเกจิอาจารย์ผู้เรืองเวทย์ร่วมปลุกเสกประมาณ 30 องค์เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2495 อาทิเช่น หลวงปู่นาค วัดระฆัง ,หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ,หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง ,หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาๆ ,พระอาจารย์สา วัดราชนัดดา ,พระครูใบฎีกาประหยัด วัดสุทัศน์ ,พระครูอาคมสุนทร ,หลวงพ่อกึ๋น วัดดอน ,หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ,หลวงพ่อจัน วัดคลองระนง ,หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว ,หลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราช ,หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์ ,หลวงพ่อช่วง วัดบางแพรก ,หลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ และหลวงพ่อฑูรย์ วัดโพธิ์นิมิตร ฯลฯ  

     และที่สำคัญยิ่งคือ ท่านเจ้าคุณนรฯ แห่งวัดเทพศิรินทร์ ได้ทำการอธิษฐานจิตอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งนับว่าเป็นการปลุกเสกอธิษฐานจิตในครั้งแรกๆของท่านเลยทีเดียว เนื่องจากท่านเจ้าคุณนรเป็นศิษย์ทีมีความกตัญญูกตเวที และที่สำคัญสมเด็จเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์ที่ท่านให้ความนับถืออย่างยิ่งโดยเฉพาะในวัตรปฎิบัติและคำสอนต่างๆ ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าท่านเจ้าคุณนรฯต้องทุ่มเทและตั้งใจอธิษฐานจิตพระกริ่งใหญ่รุ่นนี้อย่างเต็มกำลัง 



     ด้านพุทธลักษณะเป็นพระปางประทับนั่งมารวิชัยบนบัวสองชั้น ที่พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว และหัตถ์ขวาพาดตัก ส่วนด้านหลังตรงฐานบัวมีโพธิ์ และมีอักขระอุณาโลมตรงกลาง โดยผิวพระจะมีความขรุขระมีรูพรุนตามลักษณะพระหล่อโบราณ เนื้อโลหะออกกระแสเหลืองเขียวทำนองโลหะผสม ตามซอกมีร่องรอยรมดำแห้งสนิท 

     พระกริ่งรุ่นนี้จัดเป็นพระกริ่งเก่าที่ดีนอก-ดีในที่น่าสะสมอีกรุ่นหนึ่ง และอีกอย่างราคาก็ไม่สูงเหมือนพระกริ่งรุ่นใหม่ ๆ หลายรุ่นในปัจจุบัน เก็บพระแบบนี้รับรองบูชาได้สนิทใจ โดยเฉพาะท่านเจ้าคุณนรฯ ได้รับการยอมรับว่าท่านเป็นพระอรหันต์กลางกรุงยุครัตนโกสินทร์ด้วย มั่นใจได้อานุภาพความศักดิ์สิทธิ์พระเครื่องของท่านมีมากมาย

                                                                        พระชัยวัฒน์หลวงพ่อเผย

     สำหรับองค์ที่สองเป็นพระชัยวัฒน์ของหลวงพ่อเผย  วัดบางหญ้าแพรก  ซึ่งพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ วัดสุทัศน์ที่สร้างโดยสมเด็จพระสังฆราช(แพ) และท่านเจ้าคุณศรีฯ(สนธิ์) เป็นที่ทราบกันดีว่านักเลงพระต่างให้ค่านิยมสูง เพราะถือว่าสำนักนี้เป็นแหล่งต้นกำเนิดพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ ของเมืองไทยที่มีชื่อเสียง ปัจจุบันพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ ของพระเถระทั้งสองท่านนี้นอกจากจะมีราคาสูง และหายากแล้ว ของปลอมยังมีมากขนาดเซียนยังแขยง

     แต่สำหรับพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์สายวัดสุทัศน์ หาได้สร้างแต่เฉพาะที่วัดสุทัศน์เพียงแห่งเดียวไม่ แต่ยังมีการไปสร้างที่สำนักอื่นๆอีกด้วย ดังเช่น พระชัยวัฒน์ของหลวงพ่อเผย วัดบางหญ้าแพรก จ.สมุทรปราการ ที่กล่าวถึงนี้เป็นพระชัยวัฒน์สายวัดสุทัศน์เช่นกัน เพราะท่านเจ้าคุณศรี(สนธ์) ท่านไปเป็นประธานในพิธีการสร้างเมื่อปี พ.ศ.2482 พร้อมกับมีคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงร่วมกันปลุกเสกหลายท่าน เช่น หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม,หลวงพ่อเที่ยง วัดบางหัวเสือ สมุทรปราการ,หลวงพ่อเย่อ วัดอาษาสงคราม สมุทรปราการ,หลวงพ่อศุข วัดปากคลองสำโรง สมุทรปราการ ในวาระนั้น ก็ยังมีการสร้างเหรียญหลวงพ่อโสธรด้วย



     พุทธลักษณะของพระชัยวัฒน์ หลวงพ่อเผยเป็นพระปางสมาธิ  ประทับบนฐานบัวสองชั้น  ส่วนสูงวัดจากฐานถึงปลายเกศ ประมาณ 1.8 เซนติเมตร และฐานชั้นล่างสุดกว้างประมาณ 1.4 เซนติเมตร เนื้อหาเป็นทองผสมอมเขียว คล้ายๆกับพระพุทธชินราช รุ่นอินโดจีน ( โลหะยุคนี้จะออกเหลืองอมเขียว เป็นมาตรฐาน ) จะพบคราบน้ำทองติดตามซอกในองค์ที่ไม่ได้ผ่านการใช้  บางองค์อาจจะมีคราบมูลโคละเอียดๆติดอยู่ในซอก เนื่องจากเป็นพระหล่อด้วยกรรมวิธีสมัยโบราณ ทำให้พระเนตร พระขนง และ พระโอฐติดไม่ค่อยชัด ไม่เหมือนกับพระใหม่สมัยนี้ที่ใช้กรรมวิธีฉีดเหวี่ยงทำให้พระติดชัดเจน พระจะสวย แต่ไม่งามซึ้งเท่ากรรมวิธีเทหล่อแบบโบราณ 

     หากชื่นชอบพระกริ่งกับพระชัยวัฒน์ ขอแนะนำให้หาพระกริ่งใหญ่ท่านเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์ มาบูชาใครมีไว้ไม่ผิดหวังในเรื่องพุทธคุณ เช่นเดียวกับพระชัยวัฒน์ถ้าสู้ราคาของวัดสุทัศน์ไม่ไหว ลองหาพระชัยวัฒน์ของหลวงพ่อเผยมาแทน  รับรองมั่นใจได้เพราะพิธีดีมีที่มาตามตำรับวัดสุทัศน์เหมือนกันและเมื่อเทียบอายุแล้วกว่า 70 ปีแต่ราคาเช่ายังอยู่แค่หลักพันกว่า ซึ่งถ้ามีโอกาสเจอให้รีบเก็บไว้เพราะของแบบนี้นับวันราคายิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ  


                         

แกลเลอรี่ :

คำค้น : พระกริ่งใหญ่เจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์ , แนะนำพระกริ่งใหญ่เจ้าคุณนรฯ ,ข้อมูลพระกริ่งใหญ่เจ้าคุณนรฯ ,พระกริ่งใหญ่เจ้าคุณนรฯปี2495 ,ประวัติพระกริ่งใหญ่เจ้าคุณนรฯ ,พระชัยวัฒน์หลวงพ่อเผย ,ประวัติพระชัยวัฒน์หลวงพ่อเผย วัดบางหญ้าแพรก ,พระเครื่องหลวงพ่อเผย วัดบางหญ้าแพรก , พระชัยวัฒน์หลวงพ่อเผย ตำรับวัดสุทัศน์ , พระชัยวัฒน์สายวัดสุทัศน์ ,พระเครื่องเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์ , พระกริ่งหล่อโบราณ , พระชัยวัฒน์หล่อโบราณ